การปฏิบัติราชการแทน และ การรักษาราชการแทน


ความรู้เกี่ยวกับ "การปฏิบัติราชการแทน" กับ 

"การรักษาราชการแทน"


พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 หมวดที่ 5 และหมวดที่ 6 ได้กำหนดเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินเอาไว้ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสั่งการและให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ 



ปัจจุบันทุกส่วนราชการ ผู้มีอำนาจสั่งการของส่วนราชการนั้น 
จะมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติราชการแทน หรือ รักษาราชการแทน ตน เอาไว้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น


ซึ่งในวันนี้ ศูนย์ข่าวเปิดสอบงานราชการ ได้นำประเด็นนี้มาอธิบายให้เพื่อน ๆ ได้เข้าใจกันง่ายขึ้น ไปติดตามกันครับ


คำว่า ...

การปฏิบัติราชการแทน
        
หมายถึง การมอบหมายงานในอำนาจหน้าที่ของผู้มีอำนาจ (หัวหน้าหน่วยงาน) ให้ผู้รับมอบหมาย สามารถสั่งการแทนตนได้ เช่น การอนุญาต การอนุมัติ หรือการดำเนินการใด ๆ ตามที่หัวหน้าหน่วยงานมอบหมายตามที่กฎหมายกำหนด ผู้รับมอบหมายงานสามารถลงนามปฏิบัติราชการแทนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฏีกา


ผู้รับมอบหมายงานในอำนาจหน้าที่ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติราชการแทน ตามบทความนี้ และโดยส่วนใหญ่ เป็นผู้มีอาวุโสลำดับรองลงมาจากหัวหน้าหน่วยงานตามลำดับ 


การมอบงานในอำนาจหน้าที่ข้างต้น หัวหน่วยงานจะต้องออกหนังสือหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะทำเป็นคำสั่ง เช่น คำสั่งกรมสอบสวนคดี ที่ 10/2565 เรื่อง มอบหมายงานในอำนาจหน้าที่ให้ข้าราชการปฏิบัติราชการแทน เป็นต้น โดยในหนังสือจะระบุชัดเจนว่าผู้รับมอบหมายงานมีอำนาจสามารถปฏิบัติราชการแทนในเรื่องใดได้บ้าง



สรุป การปฏิบัติราชการแทน ก็คือ การปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าหน่วยงาน โดยผู้ที่มีอำนาจลงนามในเรื่องต่าง ๆ ได้ จะต้องเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งหรือมีคำสั่งมอบหมายงานในหน้าที่ระบุขอบเขตเอาไว้อย่างชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร นั่นเอง


อนึ่ง การใช้คำว่าปฏิบัติราชการแทน สามารถเสนอผู้ปฏิบัติราชการแทนลงนามได้ ในเรื่องที่กำหนด โดยไม่จำเป็นว่าหัวหน้าหน่วยงาน จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่


ตัวอย่างเช่น
อธิบดีกรมสอบสวนคดี เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ จึงได้มีคำสั่งมอบหมายงานให้รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทน โดยมอบหมายให้รองอธิบดีกรม อาวุโสลำดับ 1 ลงนามปฏิบัติราชการแทนในงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อเสนอหนังสือจัดซื้อจัดจ้างโดยมีวงเงินอยู่ภายในเงื่อนไขหนังสือคำสั่งดังกล่าว ก็สามารถเสนอรองอธิบดีผู้อาวุโสลำดับ 1 ลงนามปฏิบัติราชการแทนได้ และเมื่อลงนามแล้ว เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการเสนออนุมัติ โดยไม่ต้องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดี (ในบางส่วนราชการอาจให้ฝ่ายเลขานุการ สรุปเรื่องที่ผู้รับมอบหมายงานลงนามปฏิบัติราชการแทน และรักษาราชการแทนในเรื่องใดบ้าง เสนออธิบดีเพื่อทราบ)


กรณีตามตัวอย่างข้างต้น จะใช้คำว่า

(นาย มาตุคลา สายมูรร์)
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดี ปฏิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมสอบสวนคดี

และข้อสั่งการในกรณีนี้ เปรียบเสมือนเป็นข้อสั่งการของอธิบดีกรม ซึ่งถูกปฏิบัติแทนโดยรองอธิบดี ซึ่งได้รับการมอบหมายเป็นหนังสือไว้ถูกต้อง




การรักษาราชการแทน
หมายถึง กรณีที่หน่วยงานราชการใด ไม่มีหัวหน้าหน่วยงานดำรงตำแหน่ง หรือมีแต่ไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ กฎหมายกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง (โดยธรรมเนียมของทางราชการจะลำดับตามอาวุโส) สามารถลงนามหนัสือ ในตำแหน่งรักษาราชการแทนหัวหน้าหน่วยงานราชการนั้นได้ โดยที่ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกันกับหัวหน้าหน่วยงานราชการผู้ซึ่งตนเองแทน 


การรักษาราชการ โดยผลทางกฎหมายไม่ต้องมีหนังสือกำหนดแต่งตั้งหรือมอบหมายไว้ อย่างใดก็ตาม เมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานราชการสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ราชการได้แล้ว เป็นอันสิ้นสุด "การรักษาราชการแทน" 
    

ตัวอย่าง อธิบดีกรมสอบสวนคดี เดินทางไปราชการ ระหว่างวันที่ 1 - 23 กันยายน 2565 ซึ่งในระหว่างวันเวลาดังกล่าว ผู้ที่จะเซนลงนามปฏิบัติราชการในเรื่องใด ๆ จะเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอาวุโสลำดับรอง ตามลำดับ  หรืออีกกรณี หน่วยงานขาดหัวหน้า ระหว่างนี้ รองหัวหน้าหน่วยงานตามลำดับอาวุโส ก็สามารถรักษาราชการแทนได้ 

ตัวอย่าง ดังนี้


(นายภักดี ราชาชื่น)
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดี รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมสอบสวนคดี


ทั้งนี้ หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดในตัวอย่างแล้ว และอธิบดีกรมสอบสวนคดี กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว นายภักดี ราชาชื่น ก็หมดหน้าที่ที่จะต้องลงนามในเรื่องใด ๆ ที่ใช้คำต่อท้ายว่า "รักษาราชการแทน" แต่ยังคงลงนามในเรื่องใด ๆ ที่ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่เป็นหนังสือเอาไว้ และใช้คำว่า "ปฏิบัติราชการแทน" ได้ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติราชการแทน ในทางปฏิบัติไม่เป็นการใช้กับทุกเรื่อง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น ในกรณีที่อธิบดีกรม และรองอธิบดีกรมมาปฏิบัติงานครบทุกคน และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้เรื่องดังกล่าวจะมอบอำนาจให้รองอธิบดีเป็นหนังสือไว้แล้ว แต่ด้วยเรื่องดังกล่าวนั้นสำคัญมาก รองอธิบดีอาจลงนามแล้วเสนอเรื่องต่อไปยังอธิบดีลงนามเป็นลำดับสุดท้ายได้



เป็นอย่างไรกันบ้างครับ พอจะเข้าใจขึ้นบ้างหรือไม่ครับ และในเรื่องนี้หลายครั้งมีออกเป็นข้อสอบในการสอบภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) ในหลายสำนักงาน และหลายตำแหน่ง ขอให้ท่านทำความเข้าใจไว้ ...ใช่ว่า ครับ


หากต้องการให้แบ่งปันเกร็ดความรู้ด้านใดอีก รบกวนแจ้งให้เราทราบทางเพจได้เลยครับ


กลับ

No comments

Powered by Blogger.