ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อทดสอบความสามารถทั่วไป (ภาค ก. ปกติ) ประจำปี 2567 จำนวน 380,000 ที่นั่ง สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น.

 

สำนักงาน ก.พ. ประกาศรับสมัครสอบภาค ก. ปกติ 

(Paper&Pencil) ประจำปี 2567 ระดับ ปวช.-ป.โท 

จำนวน 380,000 ที่นั่งสอบ



#1. รายละเอียดการรับสมัครสอบภาค ก. 2567

  • การสอบภาค ก. ครั้งนี้ ผู้ที่สามารถสมัครสอบได้ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช., หรือ ปวท. หรืออนุปริญญา หรือ ปวส. หรือปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันกับคุณวุฒิข้างต้น ทุกสาขาวิชา สามารถสมัครสอบได้

  • เป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2567 ในระดับต่าง ๆ 

  • ต้องไม่เคยเป็นผู้สอบผ่าน หรือไม่มีหนังสือรับรองผลการสอบผ่านภาค ก. มาก่อน

  • ที่นั่งสอบในปี 2567 สำนักงาน ก.พ. กำหนดที่นั่งสอบไว้จำนวน 380,000 ที่นั่งสอบ ซึ่งจะปิดรับสมัครเมื่อครบจำนวนที่นั่งสอบ แม้ว่าจะยังไม่หมดเขตรับสมัครสอบ

  • ศูนย์สอบทั้งหมด 12 ศูนย์สอบทั่วประเทศ ผู้สมัครสอบสามารถเลือกศูนย์สอบได้ในขั้นตอนการสมัครสอบ และแต่ละศูนย์สอบจะกำหนดที่นั่งสอบในจำนวนแตกต่างกัน



#2. วิธีการสมัครสอบ

ผู้มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด สามารถสมัครได้ทางเว็บไซต์ job3.ocsc.go.th หัวข้อ "การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (paper&pencil) ประจำปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 ไม่เว้นวันหยุดราชการ จนกว่าที่นั่งสอบจะเต็ม





ผู้สมัครจะได้รับที่นั่งสอบสมบูรณ์เมื่อชำระเงินค่าสมัครสอบเรียบร้อยแล้ว





#3.  เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการสมัครสอบ ภาค ก.

- ไฟล์รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

(หากไม่อัพโหลดรูปถ่ายจะไม่สามารถชำระเงินค่าสมัครสอบและไม่สามารถพิมพ์แบบฟอร์มชำระเงินได้)




#4. รายละเอียดอื่นที่เป็นสิทธิ์ของผู้สมัครสอบต้องทราบ

4.1 กรณีมีที่นั่งสอบว่างจากการไม่ชำระเงิน ผู้สมัครสอบสามารถตรวจสอบได้ในเวลา 08.00 น. ของวันถัดไป และสามารถสมัครสอบโดยเลือกที่นั่งสอบในศูนย์สอบที่ว่างนั้นได้ ในเวลา 08.30 น. ในวันเดียวกัน


4.2 ค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 280 บาท


4.3 สำนักงาน ก.พ. ไม่จำกัดสิทธิผู้ที่เคยสมัครสอบภาค ก. ในรูปแบบอื่น ๆ ประจำปี 2567 ผู้สมัครสอบ ก.พ. พิเศษ มาแล้ว สามารถสมัครสอบครั้งนี้ได้อีก


4.4 ผู้สมัครสอบสามารถเลือกสมัครได้เพียง 1 ระดับวุฒิการศึกษา และเลือกศูนย์สอบได้เพียง 1 ศูนย์สอบเท่านั้น




4.5 ผู้สมัครสอบที่สอบผ่านภาค ก. ของ ก.พ. แล้ว ในระดับวุฒิการศึกษาใด จะไม่สามารถสมัครสอบในระดับวุฒิการศึกษาเดียวกันหรือต่ำกว่าที่ผ่านแล้วได้


4.6 ผู้พิการทางการมองเห็น ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย หรือทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ ลงวันที่ 30 เมษายน 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถสมัครสอบได้ โดยสำนักงาน ก.พ. จะพยายามจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ในวันสอบตามที่ผู้สมัครแจ้งไว้ในขั้นตอนการสมัคร


4.7 ก.พ. จะประกาศวัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบการสอบให้ทราบ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 


4.8 ก.พ. จะประกาศวัน เวลา สถานที่สอบข้อเขียน ภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2567


4.9 ก.พ. จะประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน ภายในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567




#5. หลักสูตรการสอบภาค ก. 2567

5.1 วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) เป็นการทดสอบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ครอบคลุมประเด็น

- การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย การจับใจความสำคัญ การสรุปความ การตีความจากบทความ ข้อความ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ 

- การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม ได้แก่ การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงคำ ข้อความ หรือรูปภาพ ตลอดจนการหาข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลจากข้อความ สัญลักษณ์ รูปภาพ สถานกาณณ์ หรือแบบจำลงอต่าง ๆ และ

- การคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ ได้แก่ ความเข้าใจ ความคิดรวบยอด และแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น การเปรียบเทียบและวิเคราะห์เชิงปริมาณ ตลอดจนการประเมินความเพียงพอของข้อมูล


5.2 วิชาภาษาอังกฤษ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) เป็นการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเพื่อวัดความเข้าใจในหลักการสื่อสาร โดยใช้ศัพท์ สำนวน โครงสร้างประโยคที่เหมาะสม ทั้งในเชิงความหมายและบริบท แสดงถึงความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การวัดความสามารถด้านการอ่านโดยทดสอบการทำความเข้าใจในสาระของข้อความหรือบทความ และการวัดความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษในระดับเบื้องต้น


5.3 วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) เป็นการทดสอบความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการเป็นข้าราชการที่ดี ได้แก่ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตลอดจนเจตคติและจริยธรรมสำหรับข้าราชการ



#6. เกณฑ์การสอบผ่าน

6.1 เกณฑ์ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และปริญญาตรี ตามข้อ 5.1 ร้อยละ 60  ข้อ 5.2 ร้อยละ 50 และ ข้อ 5.3 ร้อยละ 50

6.2 เกณฑ์ระดับปริญญาโท ตามข้อ 5.1 ร้อยละ 65  ข้อ 5.2 ร้อยละ 50 และ ข้อ 5.3 ร้อยละ 60



#7. การนำหนังสือรับรองผลการสอบผ่านไปใช้

7.1 หนังสือรับรองผลสอบผ่านสามารถใช้ได้ตลอด โดยผู้สอบผ่านจะได้รับและพิมพ์ทางระบบออนไลน์

7.2 หนังสือรับรองผลสอบผ่านในระดับสูงกว่า สามารถนำไปใช้สอบในระดับวุฒิการศึกษาต่ำกว่าได้ เช่น สอบผ่านระดับปริญญาตรี สามารถนำใบรับรองผลสอบผ่านไปใช้สมัครสอบในระดับวุฒิ ปวส. ได้ เป็นต้น

7.3 ผลการสอบถือเป็นโมฆะ เมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้

- เลขประจำตัวประชาชนของผู้สอบผ่านไม่ตรงกับฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประชาชน กรมการปกครอง

- ผู้สอบผ่านไม่สำเร็จการศึกษาภายในปีการศึกษา 2567

- ผู้สอบผ่านทุจริตในการสอบ

- รูปถ่ายในบัตรประจำตัวสอบไม่ตรงกับรูปถ่ายในฐานข้อมูลผู้สมัครสอบของ ก.พ.

- ผู้สอบผ่านสามารถนำหนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ก.พ. ไปใช้สมัครสอบกับส่วนราชการที่ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเข้ารับราชการได้ โดยต้องมีคุณวุฒิการศึกษาตรงตามประกาศรับสมัครของส่วนราชการนั้นด้วย



อ่านรายละเอียดประกาศรับสมัคร            |        สมัครสอบภาค ก. ประจำปี 2567 ออนไลน์


No comments

Powered by Blogger.